บทความนี้จะพาทุกคนมาเรียนรู้ในเรื่องของ ตราสารอนุพันธ์ หรือในภาษาอังกฤษ คือ Derivative กัน ซึ่งตราสารประเภทนี้นั้นเป็นตราสารประเภทหนึ่ง ซึ่งจะมีการใช้เพื่อบริหารความเสี่ยงในด้านของ HEDGING , Risk Management หรือ การเก็งกำไรอย่าง Speculative ซึ่งตราสารอนุพันธ์นี้เรียกได้ว่าเป็นตราสารที่ค่อนข้างจะซับซ้อนมากเลยทีเดียวและเข้าใจได้ยากอยู่พอสมควร แต่ว่าถ้าทำความเข้าใจกันได้นั้นจะทำให้เราได้ประโยชน์อะไรหลายอย่างทีเดียวเลยละ ผู้เขียนจึงได้ทำการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับตราสารประเภทนี้แบบคร่าวๆมาให้ทุกคนได้ลองอ่านกัน
สัญญาและสิทธิ์เป็นของคู่กัน
เรามาทำความรู้จักกับ 2 คำนี้ก่อน คือ สัญญา และ สิทธิ์ ซึ่งเป็นรูปแบบ ของตราสารอนุพันธ์
- สัญญา คือ การที่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ได้มีการตกลงและทำทำสัญญาร่วมกัน ดังนั้นต้องมีการทำตามที่ตกลง ถ้าหากไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้นั้นอาจจะถูกปรับหรือถูกลงโทษ ตามที่สัญญาได้ระบุไว้
- สิทธิ์ คือ สิ่งที่เราได้มารวมไปถึงการที่เราทำการซื้อมา ซึ่งทำให้เรานั้นมีสิทธิ์ตามเงื่อนไขของสิ่งนั้น เช่น เราซื้อของมา 1 ชิ้น ของสิ่งนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นของเรา จะเก็บไว้ใช้ตามความต้องการของเราหรือจะมอบให้กับผู้อื่นก็ได้ตามความต้องการและสิทธิ์ที่เรามี เป็นต้น
ประเภทของตราสารอนุพันธ์
เรามาทำความรู้จักประเภทของตราสารอนุพันธ์ โดยตราสารอนุพันธ์ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ Forward Futures Swap เป็นสัญญา และ Option ที่เป็นสิทธิ์
1.Forward (ฟอร์เวิร์ด) ตราสารอนุพันธ์ที่อยากยกตัวอย่างเป็นอย่างแรก คือ Forward ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสัญญาในการซื้อและขายสินค้ารวมไปถึงสินทรัพย์ทางการเงิน ที่ผู้ตกลงทำสัญญา ทั้ง 2 ฝ่าย นั้นได้มีการตกลงกัน โดยฝ่ายหนึ่งทำสัญญาว่าจะซื้อ หรือขาย ตามราคาที่ตกลงกันไว้ โดยการซื้อขายนั้นจะมีการเกิดขึ้นในอนาคต ตัวอย่างเช่น A ทำสัญญา Forward จะซื้อ ที่ดินของนาย B ในราคา 500,000 บาท อีก 3 เดือนข้างหน้า โดยนาย B เองก็ได้ทำสัญญาที่จะขายที่ดินในแปลงนี้ ที่ราคา 500,000 บาทเช่นกัน
2.Futures (ฟิวเจอร์ส) Futures คือ สัญญาตกลงซื้อขายเหมือนกับ ฟอร์เวิร์ด แต่แตกต่างกันตรงที่ ฟิวเจอร์สเป็นสัญญาแบบเป็นทางการ มีรูปแบบสัญญาที่แน่นอนและที่สำคัญมีตัวกลางคอยดูแลการซื้อขายและควบคุมให้ทำตามสัญญา หน่วยงานที่ควบคุมดูแลตรงนี้คือ ตลาด TFEX ซึ่งดูแลรูปแบบสัญญา และสำนักหักบัญชี (Clearing House) ซึ่งดูแลการทำตามสัญญา โดยสำนักหักบัญชีจะทำตามหน้าที่เป็นคู่สัญญาตรงข้ามกับผู้ทำสัญญาเพื่อรับประกันการทำตามสัญญาและจะลดความเสี่ยงของตนโดยจะมีการเรียกเก็บเงินประกันจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้ามีฝ่ายใดทำผิดสัญญาจะถูกยึดเงินประกันซึ่งทำให้แก้ไขปัญหาการผิดสัญญาได้ดีเลยทีเดียวตรงนี้อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ สำนักหักบัญชีจะเอาเงินมาจ่ายซื้อหรือขายหลักทรัพย์แทนคู่สัญญาที่บิดพลิ้วนั่นเอง แต่ว่าจะเก็บเงินจากคู่สัญญาไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นประกันและลดความเสี่ยงที่ตัวเองจะต้องมาจ่ายเงินแทนคู่สัญญาที่บิดพลิ้ว
3.Swap (สวอป) เรียกกันง่ายๆก็คือ สัญญาการแลกเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสด หรือการเอาเงินมาแลกกัน ของคู่สัญญานั้นเอง โดยฝ่ายหนึ่งนั้นจะทำการจ่ายเป็นอัตราคงที่ ส่วนอีกฝ่ายนั้นจะมีการจ่ายเป็นแบบลอยตัว หรือจะเป็นแบบลอยตัวกันทั้งคู่ก็ย่อมได้ โดยฝ่ายที่จ่ายจะเป็นแบบใดก็ตามนั้น จะจ่ายมากหรือจ่ายน้อยก็ต้องก็ต้องขึ้นอยู่กับมูลค่าสินทรัพย์ที่สัญญาได้มีการผูกอยู่
4.Option (ออปชั่น) สำหรับตราสารอนุพันธ์ตัวสุดท้ายก็คือ ออปชั่นเป็นสิทธิ์ ในการซื้อ หรือขาย สินทรัพย์ในราคาที่ต้องการในอนาคต โดยผู้ได้สิทธิ์จะใช้สิทธิ์หรือไม่ใช้สิทธิ์ก็ได้ เพราะว่าไม่ใช่สัญญาจึงไม่ต้องถูกบังคับให้ทำตาม แต่ว่าจะเสียเงินจากที่ซื้อสิทธิ์ในตอนแรกไป ซึ่งเงินส่วนนี้เรียกว่า Option Premium ซึ่งมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขาย จากข้อดีนี้ทำให้ ออปชั่นเป็นตัวเลือกที่มีคนนิยมใช้มากเลยทีเดียว
ประโยชน์ของตราสารอนุพันธ์
ประโยชน์ของตราสารอนุพันธ์นั้นหลักๆจะมีอยู่ 2 อย่างตามที่ผู้เขียนได้เอ่ยถึงในข้างต้นก็คือ ในด้านของการเก็งกำไร และในด้านของการบริหารความเสี่ยง นั้นเอง แต่สำหรับวันนี้นั้นข้อมูลที่ผู้เขียนได้นำมานำเสนอเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ก็คือส่วนของการบริหารความเสี่ยง ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์มาก ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่ผู้เขียนนั้นได้ทำการเรียบเรียงมาจะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อ่านทุกท่าน