โครงสร้างภาษีในประเทศไทยมีอะไรบ้าง

เราจะมาพูดถึงโครงสร้างของภาษีในประเทศไทยของเราที่หลายๆ คนนั้นอาจจะยังไม่ทราบกันซึ่งในประเทศไทยของเรานั้นจะแบ่งโครงสร้างภาษีในหน่วยงานที่ใหญ่ ออกมาได้ 4 ประเภท ด้วยกัน ซึ่งนั้นก็คือ กรมสรรพากร , กรมสรรพสามิต , กรมศุลกากร และสุดท้ายคือ องค์การปกครองท้องถิ่น โดยแต่ละหน่วยงานนั้นจะมีการจัดการในเรื่องของภาษีที่แตกต่างกันออกไป

Thailandtax

1.กรมสรรพากร

จะมีหน้าที่ในการจัดการในส่วนของ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั่วไป ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ภาษีในธุรกิจเฉพาะทาง อากรแสตมป์ต่างๆ

2.กรมสรรพสามิต

จะมีหน้าที่จัดการในส่วนของ การจัดเก็บ ภาษียาสูบ ภาษีรถยนต์แต่ละประเภท ภาษีสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ภาษีจากน้ำมันรวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน ภาษีไพ่ ภาษีกิจการและการบริการต่างๆ

3.กรมศุลกากร

จะมีหน้าที่จัดการในส่วนของ ภาษีของนำเข้าจากประเทศต่างๆ จะต้องมีการผ่านกรมศุลกากรเสียก่อนเพื่อตรวจสอบสินค้าว่าเป็นในประเภทต้องห้ามหรือไม่ และสินค้าที่นำเข้าหรือนอกประเทศนั้นต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้า ขนาด และ มูลค่า ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีการรวมภาษีในส่วนของสินค้าหรือสิ่งของต่างๆ ที่ต้องการส่งออกนอกประเทศด้วยเช่นกัน

4.องค์การปกครองท้องถิ่น

จะมีหน้าที่ในการจัดการส่วนของ ภาษีป้ายต่างที่เราเห็นกันเช่นป้ายโฆษณาในพื้นที่ต่างๆ อากรฆ่าสัตว์ของโรงงานต่างๆ อากรจากนกนางแอ่นในพื้นที่ๆ มีการเพาะเลี้ยงนกนางแอ่น จัดเก็บในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภาษีที่ใช้ในการบำรุงท้องถิ่นนั้นๆ โดยเก็บจาก โรงแรม โรงงานน้ำมัน โรงงานยาสูบ ฯลฯ เป็นต้น

Thailandtax

เราจะแบ่งโครงสร้างของกฎหมายภาษีอากรในส่วนต่างๆ ให้เข้าใจโดยง่าย โดยจะแบ่งออกเป็น 6 ข้อ ด้วยกันดังนี้

1.ผู้ที่มีหน้าที่ในการที่จะต้องเสียภาษีอากรนั้น คือ ผู้ที่จัดอยู่ในข่ายของผู้ที่ต้องทำการเสียภาษีอากร ตามที่กฎหมายในแต่ละฉบับนั้นได้มีการกำหนดมา โดยทั่วไปแล้วสามารถที่จัดแบ่งได้เป็น นิติบุคคล และ บุคคลธรรมดา นั้นเอง

2.ฐานภาษีอากร คือ ปัจจัยหรือเหตุที่จำเป็นจะต้องเสียภาษีอากร ในส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับกฎหมายที่ได้มีการกำหนดเอาไว้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็คือ ฐานภาษีที่เป็นเงินได้โดยสุทธิ (เงินได้ที่ผ่านการประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว) และ ภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ในส่วนนี้ฐานภาษีคือมาจาก ค่าใช้จ่ายและบริโภคต่างๆ นั้นเอง

3.อัตราภาษีอากร คือ ร้อยละที่มีการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน การพิจารณาในแต่ละประเภทนั้นจะมีการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของฐานภาษีนั้นตามที่กฎหมายได้มีการกำหนดเอาไว้ ใน 3 ประเภทนี้จะมี อัตราภาษีคงที่ ซึ่งในส่วนนี้ถึงแม้ฐานของภาษีนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่อัตราภาษีนั้นจะยังคงเท่าเดิมอยู่ อัตราภาษีก้าวหน้า ฐานภาษีเพิ่มขึ้นอัตราของภาษีก็จะมีการเพิ่มขึ้นเช่นกัน อัตราภาษีแบบถดถอย ฐานภาษีเพิ่มขึ้น แต่อัตราภาษีจะมีการลดลง

4.การประเมินจัดเก็บภาษีอากร ในส่วนนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ การประเมินตนเอง ผู้ที่จะต้องเสียภาษีนั้นจะต้องมีการประเมินตนเอง รวมถึงมีการยื่นเอกสารที่จะใช้ในการชำระภาษีตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายนั้นได้กำหนด การประเมินล่วงหน้า ภาษีในส่วนนี้นั้นจะมีการประเมินไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ซึ่งเรียกกันว่า ภาษีเงินได้ที่หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งในส่วนนี้สามารถนำไปหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้

5.การอุทธรณ์ภาษีอากร ในกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างผู้ที่มีการเสียภาษีและผู้ที่ทำการจัดเก็บภาษี ซึ่งเกี่ยวกับจำนวนของภาษีที่ต้องชำระหรืออำนาจในการประเมินเรียกเก็บภาษี ผู้เสียภาษีสามารถที่จะทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ภาษีให้มีการพิจารณาใหม่ได้ ภายใน 30 วัน ที่มีการรับทราบ

6.เบี้ยปรับ โทษ และเงินเพิ่ม หากไม่ชำระภาษีอากรต่างๆ รวมไปถึงชำระไม่ครบ ไม่ตรงเวลาที่ได้มีการกำหนดไว้ตามกฎหมาย อาจจะต้องมีการปรับเงิน เงินเพิ่ม หรือรับโทษ ตามแต่ที่กฎหมายได้มีการระบุและกำหนดเอาไว้